
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM : Net Interest Margin) คืออะไร ?
เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์ จาก ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย โดยองค์ประกอบที่สำคัญของ ดอกเบี้ยรับ คือ ปริมาณเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนต่างๆ ทั้งต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้กู้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ และต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงผลกำไรเพื่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตในอนาคต ส่วนดอกเบี้ยจ่าย คือ ดอกเบี้ยจ่ายจากเงินรับฝาก ตราสารหนี้และเงินกู้ยืมทุกประเภท (ที่มา : www.bot.or.th)
NIM คำนวณจากอะไร ? และหาดูได้จากที่ไหน ?
NIM = (รายได้ดอกเบี้ยรวม – ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) / สินทรัพย์ทั้งหมดที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ยเฉลี่ย
ทั้งนักลงทุนสามารถหาข้อมูลได้จาก www.set.or.th และดูตัวเลข NIM ได้ จากงบกำไรขาดทุน…โดยไม่ต้องลงมือลงแรงคำนวณเอง ตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : เข้าที่ www.set.or.th จากนั้นไปที่ช่อง Get Quote และพิมพ์ชื่อหุ้น
ขั้นตอนที่ 2 : จากนั้นเลือกแทบเมนู “ข่าว” เลือก “การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการสำหรับไตรมาสและงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563”
ขั้นตอนที่ 3 : ไปที่ส่วนของงบกำไรขาดทุน จะพบกับข้อมูล ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ
NIM ส่งผลอย่างไรต่องบการเงินกลุ่มแบงก์
เนื่องจากว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีรายได้หลักมาจากการปล่อยสินเชื่อ และต้นทุนหลักมาจากการรับฝากเงิน (อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก) จากตารางข้างต้น การที่ค่า NIM มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่ลดลง (ติดลบมากขึ้น) หรือพูดง่ายๆ คือ รายได้น้อยกว่ารายจ่ายนั้นเอง …บ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรในไตรมาสนั้นๆ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ค่า NIM จึงเป็นตัวที่ไว้ใช้วัดผลกำไรเบื้องต้นในการดูหุ้นกลุ่มแบงก์
ทำไม NIM ถึงกระทบ ROE ?
ซึ่งถ้าค่า NIM ติดลบมากๆ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตรากำไรโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า อัตรากำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) ปรับลดลงด้วย ในทางตรงข้ามกันหากว่าค่า NIM ที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลในทางกลับกัน ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยอื่นๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ นโยบายการเงินของธนาคารกลางประกอบด้วย
หมายเหตุ : NIM เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลกำไรเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ที่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายพนักงาน เป็นต้น
แล้ว…มาตรการธปท. รวมหนี้รายย่อยกับสินเชื่อบ้าน กระทบกับกลุ่มธนาคารมากน้อยแค่ไหน ?
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยเพิ่มประเภท สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สำหรับลูกหนี้รายย่อยในธนาคารเดียวกันที่มีสินเชื่อบ้านเป็นหลัก สามารถนำสินเชื่แประเภทดังกล่าวมามัดรวมกับสินเชื่อบ้านและใช้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านเป็นอัตราผ่อนชำระหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย (แล้วแต่ธนาคาร) และลูกค้าที่ต้องการเข้ามาตราการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจากผลของ COVID-19 ในกลุ่มธุรกิจเสี่ยง โดยธนาคารที่ได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ ธนาคารที่มีสินเชื่อบ้านมากสุด ที่จะนำไปมัดรวมกับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ ทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ลดลง (ที่มา : บทวิเคราะห์หลักทรัพย์บัวหลวง วันที่ 28 สิงหาคม 2563)
ลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวง : สามารถติดตามบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ Bualuang Research อ่านเพิ่มเติม…คลิกที่นี่